โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ จังหวัดตาก)

1,714 Views

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ) ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เปิดสอนในระดับปฐมวัย-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีครูและเจ้าหน้าที่รวม 17 คน และนักเรียน 453 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เนื่องจากโรงเรียนตั้งในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและเป็นป่าสงวนแห่งชาติจึงไม่มีบริการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (สายส่งไฟฟ้า) และแม้จะมีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมแต่ก็ไม่เสถียร จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน 

ด.ต.สมดุลย์ โพอ้น ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ จังหวัดตาก) เล่าว่า “เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างจากตัวจังหวัดตากประมาณ 337 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและประสบปัญหาด้านการติดต่อสื่อสาร การเรียนการสอนด้านไอซีที การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าและการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบาก ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้”

ในปี พ.ศ. 2559 ทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งปัจจุบันสังกัดศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสานชนิดอิสระ (stand-alone หรือ off grid PV/hybrid system) และโทรมาตรหรือการติดตามระยะไกล (telemetry หรือ monitoring) พร้อมระบบไอซีที สำหรับใช้ในกิจกรรมด้านการศึกษาและรองรับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กิจกรรมด้านสุขภาพและรองรับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการบริการพบแพทย์ทางไกล อุปกรณ์เครือข่ายของระบบสารสนเทศในโรงเรียน ระบบไฟฟ้าส่องสว่างในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ และอาคารสุขศาลาพระราชทาน (หรือห้องพยาบาล)

ก่อนเริ่มโครงการ ทีมวิจัยได้ให้ความรู้และทำความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน ครู และชาวบ้าน เกี่ยวกับความสำคัญ ประโยชน์ และสิ่งที่จะได้รับจากโครงการนี้ ด.ต.สมดุลย์ กล่าวว่า “ผู้นำชุมชนและชาวบ้านก็เห็นดีด้วยเพราะจะทำให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนต่อมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน และมีการติดต่อสื่อสารที่สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น”

“โครงการนี้ทำให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์มาก เช่น ครูสามารถใช้คอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และโปรแกรมประยุกต์บนสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน ส่วนนักเรียนก็สามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ และเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถใช้ติดต่อปรึกษาเพื่อการรักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้” ด.ต.สมดุลย์ กล่าว

สำหรับการต่อยอดกิจกรรมจากโครงการดังกล่าว ด.ต.สมดุลย์ กล่าวว่า “สำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมกับทีมวิจัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดอบรมการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำการตลาดดิจิทัลด้วยการประยุกต์ใช้ไอซีทีให้แก่นักเรียน ศิษย์เก่า และชาวบ้านในชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่น เช่น พริก และไม้ไผ่ รวมถึงการออกแบบแบรนด์สินค้า การโฆษณาและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังจัดอบรมชาวบ้านให้สามารถผลิตชุดไฟฟ้าส่องสว่าง LED อย่างง่ายใช้เอง พร้อมทั้งสอนการใช้งาน การซ่อมแซม และการดูแลรักษาอุปกรณ์เบื้องต้น รวมถึงการกำจัดแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพอย่างถูกวิธี และจัดอบรมการพัฒนาการศึกษาด้วยการประยุกต์ใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนอีกด้วย”

โครงการนี้มีหน่วยงานพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สนับสนุนงบประมาณ ดูแล บำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า และจัดอบรมให้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ดูแลระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้แก่โรงเรียนและชุมชน

เมื่อถามถึงผลกระทบอื่น ๆ ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาในชุมชน ด.ต.สมดุลย์ อธิบายว่า “เกิดผลดีต่อชุมชน โดยเทคโนโลยีเป็นสื่อช่วยนำวัฒนธรรมดั้งเดิมในวิถีชีวิตชุมชนกลับมา เช่น การละเล่นรำตง ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยง และการเล่นเตหน่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เป็นต้น ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงราว 70-80% สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้” 

ด.ต.สมดุลย์ กล่าวแสดงความชื่นชมว่า “ทีมวิจัยดูแลเอาใจใส่และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้จัดวางระบบ และให้คำแนะนำเป็นอย่างดี โดยเสนอแนะทิ้งท้ายว่า อยากให้มีการพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อรองรับการเรียนการสอนในอนาคตโดยรวมแล้วมีความพึงพอใจกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก”