บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด

1,172 Views

บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ประกอบการแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ไอทีและเครื่องมือทางไฟฟ้าต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้พลังงานจากแหล่งที่พกพาเคลื่อนที่ได้และให้พลังงานสูง (portable power) บริษัทฯ เล็งเห็นว่าแบตเตอรี่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ โดยติดตั้งอยู่ในเครื่องมือต่างๆ ทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย จึงดำเนินการให้บริการประกอบแบตเตอรี่ตามแบบหรือออกแบบแบตเตอรี่ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานในทุกอุตสาหกรรมมานานกว่า 26 ปี

ลูกค้าของบริษัทฯ มี 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มงานโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่ส􀄞ำหรับการซ้อมรบของกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ, แบตเตอรี่หุ่นยนต์สำหรับส่งอาหารและส่งเอกสารเพื่อลดการสัมผัส, แบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า/จักรยานไฟฟ้า/ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (EV tuk-tuk) รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการของกองทัพ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการถ่ายทอดจากสไนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ (2) กลุ่มไลฟ์สไตล์และเอ็นเทอร์เทนเมนต์ เช่น แบตเตอรี่กล้องถ่ายรูป และแบตเตอรี่อุปกรณ์ไอทีต่างๆ

คุณบุษราภรณ์ พรไพศาลศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 26 ปีที่ผ่านมาเรามองเห็นความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการเพื่อเป้าหมายในด้านต่างๆ เช่น เป้าหมายพลังงานที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการทำงานของเครื่องมือและอุปกรณ์ เป้าหมายด้านความทนทานเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้งาน เป้าหมายลดระยะเวลาในการอัดประจุ เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้ในทันที และเป้าหมายความปลอดภัย เพื่อความเชื่อมั่นในการใช้งานและความยั่งยืนในอุตสาหกรรม”

“จากแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ บริษัทฯ จึงสนใจโครงการวิจัยแพ็กแบตเตอรี่ของ สวทช. ที่ตอบโจทย์แนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบกับงานวิจัยเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย เป็นการพัฒนาทั้งในด้านประสิทธิภาพพลังงาน (energy efficiency) ที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศให้คนไทยใช้ของไทย พัฒนาโดยคนไทย และส่งเสริมการนำงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง”

“เมื่อถามว่าโครงการวิจัยนี้ช่วยเพิ่มผลิตภาพหรือนวัตกรรมให้แก่บริษัทฯ อย่างไรบ้าง คุณบุษราภรณ์กล่าวว่า “บริษัทฯ มีโอกาสรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นส่วนเชื่อมต่อกับงานวิจัยของ สวทช.นับเป็นงานสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของกองทัพไทย โดยทีมนักวิจัยไทย ผลิตโดยบริษัทเอกชนไทย และนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์” “การได้รับความรู้ทางเทคนิคในการประกอบแพ็กแบตเตอรี่จากผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงสุดของไทยเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เป็นการยกระดับและเสริมศักยภาพการทำงานไปสู่มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ลดของเสียในกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยตามมาตรฐานขั้นสูงสุด และภายหลังจากการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เราพบว่ามีเทคนิคหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลผลิตให้กับสินค้าและบริการอื่นๆ ของบริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“บริษัทฯ ต้องการขยายผลงานวิจัยในหมวดแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปยังหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลรักษา ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการใช้งานให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพเหนือกว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่า และมีความปลอดภัยสูงภายใต้มาตรฐานของประเทศไทยและนานาชาติ โดยบริษัทฯ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมผลงานวิจัยไทย ขยายผลสู่ภาคธุรกิจอย่างจริงจังต่อไป” คุณบุษราภรณ์กล่าวเสริม

ส่วนปัญหาหรืออุปสรรคในการขยายผลงานวิจัยไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คุณบุษราภรณ์กล่าวว่า “ภาครัฐยังไม่มีนโยบายมุ่งเน้นในการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านแบตเตอรี่ที่หลากหลายเพียงพอที่จะช่วยให้เกิดการขยายผลไปสู่ภาคความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับบริษัทเอกชนในประเทศ โดยหากผลักดันให้เกิดเป็นโครงข่ายนวัตกรรมในอุตสาหกรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมก็จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยี สร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเศรษฐกิจให้กับประเทศได้”

“จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผลงานวิจัยมีความเฉพาะเจาะจงจึงสามารถใช้งานในบางภารกิจเท่านั้น ไม่เหมาะที่จะใช้เพื่อการพาณิชย์ทั่วไป และการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็เข้าถึงยากรวมถึงภาครัฐเองก็ยังไม่มีการผลักดันในการนำการวิจัยพัฒนามาขยายผลให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย ทำให้แม้จะมีงานวิจัยที่ดี แต่เอกชนอาจต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ในแง่ของธุรกิจควบคู่ไปด้วย ประกอบกับผู้บริโภคปลายทางยังรับรู้ถึงการมีอยู่ของเทคโนโลยีของไทยน้อยมาก ดังนั้นจึงมีแต่ความต้องการเทคโนโลยีของต่างชาติเสียส่วนใหญ่ โดยผ่านการรับรู้จากการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ส่งผลให้ขนาดตลาดไม่มากพอที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนในอุตสาหกรรม”

คุณบุษราภรณ์ให้ข้อเสนอแนะว่า “ในฐานะที่ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติเป็นตัวกลางในการพัฒนาเทคโนโลยีตามความต้องการของหน่วยงานที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ และศูนย์ฯ เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ประกอบการที่จะนำเทคโนโลยีไปผลิต ศูนย์ฯ อาจช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เกิดความต้องการใช้เทคโนโลยีของไทย โดยสร้างการรับรู้ถึงความพร้อมทั้งองค์ความรู้และศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น และเป็นการช่วยขยายตลาดให้กับผู้รับการถ่ายทอดให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น”

“อีกทั้งอาจสร้างความร่วมมือทั้งก่อนการทำวิจัย ขณะทำวิจัย และเมื่อการวิจัยพัฒนาเสร็จสิ้นควบคู่ไปกับบริษัทเอกชนเป้าหมายที่พิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพ เพื่อจะทำให้กระบวนการทั้งหมดสามารถขับเคลื่อนได้ในทันทีและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย เป็นการยกระดับผลงานวิจัยต่อยอดไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและได้ใช้ผลงานวิจัยนั้นๆ ในวงกว้างต่อไป” คุณบุษราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย