1,303 Views
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงสภาวะโลกร้อน(Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และให้ความสำคัญกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น หลายประเทศได้ประกาศนโยบายการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้ประกาศ“แผนพลังงานชาติ”ซึ่งมีเป้าหมายหนึ่งคือ การมุ่งเน้นการลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065-2070 หนึ่งในกรอบของแผนการดำเนินการคือแนวทางส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียว ซี่งประกอบด้วย ก. ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ข.ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียวด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 (30% ภายในปี ค.ศ.2030) ค. ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 30 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ง. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization, Digitalization, Decentralization, Deregulation และ Electrification)
ในส่วนของภาคการขนส่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมารัฐบาลไทยประกาศเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ.2579 ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็น“อุตสาหกรรมใหม่” ที่มีอนาคตในการขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศเร่งดำเนินการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 38/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 หรือพ.ศ.2573 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(xEV) 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด คิดเป็นปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน (ROADMAP : THAILAND SMART MOBILITY 30@30)โดยมีแผนดำเนินการ 3 ระยะ ดังนี้
- แผนระยะสั้น (ปี ค.ศ.2020-2022) ขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่น ๆ กำหนดเป้าหมายจำนวน 60,000 – 110,000 คัน
- แผนระยะกลาง (ปี ค.ศ.2021-2025) เร่งให้มี ECOEV และ SmartCity Bus ประมาณ 250,000 คัน
- แผนระยะยาวในปี ค.ศ 2030 ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน
แผน ROADMAP : THAILAND SMART MOBILITY 30@30 นับเป็นแผนงานที่เร่งดำเนินการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษทางอากาศ และช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน
การจัดตั้งสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทยหรือThailand Energy Storage Technology Association (TESTA) นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศและส่งเสริมนโยบายภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินงานตามแผนพลังงานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงทำให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในระดับงานวิจัยตลอดจนถึงระดับอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขับคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์ และการตอบสนองเป้าหมายของสังคมแห่งพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ต่อไป
จุดเด่นของผลงาน
สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทยจัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในนาม ภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Alliance) จากการรวมกลุ่มระหว่างกลุ่มคนทางวิชาการ และหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่สนใจด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในประเทศ โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทย มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และการใช้ระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย จากความร่วมมือนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็น สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association: TESTA) เมื่อวันที่ 25 มกราคมพ.ศ 2564
วิสัยทัศน์: เป็นภาคีชั้นนำระดับอาเซียนในด้านเครือข่ายและความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ระหว่างนักวิจัย หน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา กับผู้ประกอบการและผู้ใช้ที่มีความสนใจทั้งในประเทศ และในระดับนานาชาติ
พันธกิจ:
- ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้และยั่งยืนสำหรับการใช้งานในระบบไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
- เชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยและพัฒนากับภาคส่วนการผลิตด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน
- จัดทำบทวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลทั่วไป รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีบทบาทด้านระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งภาค อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายของประเทศ
การนำไปใช้ประโยชน์/ผลกระทบ
การรวมกลุ่มคนทางวิชาการและหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมภายใต้สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย หรือThailand Energy Storage Technology Association (TESTA) ช่วยขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศดังนี้
1) เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานโดย
เฉพาะสำหรับการใช้งานในระบบไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
2) เป็นเวทีเปิดที่เชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยและพัฒนากับภาคส่วนการผลิตด้านเทคโนโลยี
ระบบกักเก็บพลังงาน
3) เป็นแหล่งข้อมูลเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลทั่วไป รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีบทบาทด้านระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายของประเทศ
4) นำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่าและพร้อมแข่งขันในเวทีโลก