สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก

6,263 Views

สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกองทัพบก มีภารกิจในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ควบคุม กำกับการและดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการทางทหาร ทั้งในด้านหลักการและยุทโธปกรณ์ตามที่กองทัพบกกำหนด ตลอดจนการกำหนดและรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ภายในกองทัพบก 

พล.ต. สมบุญ เกตุอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก กล่าวว่า “จากการที่กองทัพบกมีวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมของกองทัพที่มีความหลากหลายเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีการจัดหามาเป็นเวลานานแล้ว จำเป็นต้องมีการดูแลซ่อมบำรุงเพื่อดำรงสภาพให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ” 

“อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมของกองทัพชนิดหนึ่งประสบปัญหาเรื่องแบตเตอรี่สำหรับจ่ายพลังงาน เนื่องจากต้องนำเข้าจากประเทศอังกฤษโดยเรือสินค้าเดินสมุทร ไม่สามารถนำส่งบรรทุกทางเครื่องบินได้อันเป็นไปตามกฎนิรภัยการบินของ ICAO ทำให้การจัดหาแบตเตอรี่มาทดแทนของเดิมที่ชำรุดหมดสภาพมีข้อจำกัด ล่าช้า เพราะต้องรอรวบรวมปริมาณความต้องการให้คุ้มค่าต่อการขนส่งแต่ละครั้ง อีกทั้งการเดินทางใช้เวลานานมาก ทำให้เมื่อแบตเตอรี่มาถึงหน่วยใช้ก็ใกล้หมดอายุการใช้งานแล้ว ดังนั้น หากเราสามารถวิจัยและผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวเองได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลาย”

“กองทัพบกโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบกเล็งเห็นว่า ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ทดแทน จึงเกิดความร่วมมือในโครงการวิจัยแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่” 

ในส่วนของผลการดำเนินการ พล.ต. สมบุญ กล่าวว่า “การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง ทั้งนี้ต้นแบบงานวิจัยสามารถใช้ทดแทนระบบจัดการพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Power Management System หรือ BPMS) ระบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีน้ำหนักน้อยลง มีขนาดและฟังก์ชันการใช้งานเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจ เพิ่มประสิทธิภาพระบบจัดการแบตเตอรี่ มีความทนทานผ่านการทดสอบมาตรฐานทางทหาร มีราคาถูก และประหยัดเวลากว่าการจัดหาจากต่างประเทศ” 

“ทีมวิจัยสามารถดำเนินโครงการบรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานแบตเตอรี่ให้แก่กองทัพบกนำมาซึ่งการตอบสนองนโยบายของกองทัพบกประการหนึ่งคือ ‘ไทยทำ ไทยใช้’” พล.ต. สมบุญ กล่าวแสดงความชื่นชม

ในแง่ของการขยายผล พล.ต. สมบุญ กล่าวว่า “กองทัพบกมีเป้าหมายจะพัฒนาต่อยอดและขยายผลงานวิจัยดังกล่าวไปสู่ระบบแบตเตอรี่ของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ที่ประจำการในกองทัพ หรือระบบพลังงานทดแทนต่อไป” 

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้น พล.ต. สมบุญ กล่าวว่า “การขยายผลงานวิจัยไปใช้งานในกองทัพบกโดยมุ่งไปสู่ระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ ปัจจัยเรื่องเวลา เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมของกองทัพต้องมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานการใช้งานทั่วไป การใช้งานวิจัยช่วยแก้ไขปัญหาบางกรณีต้องใช้เวลามากทั้งการวิจัยและการทดสอบให้ได้มาตรฐาน จึงไม่ทันเวลาที่จะแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เผชิญได้ ประกอบกับการที่ต้องทดลองและทดสอบหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในผลงานวิจัยว่าผ่านมาตรฐาน และสามารถใช้งานได้เท่าเทียมหรือดีกว่าที่จัดหาจากแหล่งผลิตซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามมาด้วย”

“นอกจากนั้นผลงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมของกองทัพบกมีปริมาณความต้องการในการผลิตใช้งานน้อย (economy of scale) เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ประกอบกับกำแพงภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ และภาษีธุรกิจในการดำเนินการผลิตทุกขั้นตอนทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อสร้างสายการผลิตแล้วหลายผลงานอาจจะไม่คุ้มค่าหรือต้นทุนสูงกว่าจัดหาจากต่างประเทศจึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการผลักดันให้ภาคเอกชนของไทยดำเนินการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม”

“อย่างไรก็ตาม การแสวงหาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการวิจัย พัฒนา ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพในการดำรงสภาพวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมของกองทัพให้มีความพร้อมตลอดเวลานั้นแม้ว่าการวิจัยต้องใช้ทรัพยากรและลงทุนสูง แต่เมื่อสามารถดำเนินการไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้แล้วจะคุ้มค่าในระยะยาว เพราะงบประมาณทั้งหมดจะอยู่ภายในประเทศ เริ่มตั้งแต่งบประมาณบุคลากร การทดลอง การทดสอบ การบริหารงานวิจัย การรับรองมาตรฐาน การผลิต และการมีบริการหลังการขายที่ดีสามารถใช้เวลาจัดหา และส่งมอบทันเวลาจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการภาษี ระเบียบข้อบังคับ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แล้วก็น่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ราคาก็ถูกลงตามไปด้วย จะทำให้เกิดผลงานวิจัยนำไปสู่อุตสาหกรรมในประเทศ หรือ S-Curve 11 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างแน่นอน”

พล.ต. สมบุญ ให้ข้อแนะนำว่า “ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีขีดความสามารถด้านการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่สามารถสนับสนุน และตอบสนองความต้องการของกองทัพบกและของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศอยู่ในระดับที่ดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องปฏิบัติการที่สามารถทดสอบและรับรองมาตรฐานต่างๆ ตามมาตรฐานสากลอย่างไรก็ตาม หลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังไม่ทราบในขีดความสามารถของ สวทช. หากได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรต่างๆ ได้รับทราบก็จะเกิดความร่วมมือที่หลากหลายและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น”