การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 ‘NAC2023’ โชว์ขุมพลังวิจัย ‘ขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืน’ เริ่มแล้ว 28-31 มี.ค. ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ปทุมธานี

(28 มีนาคม 2566) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 (NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) ระหว่างวันที่ 28 -31 มีนาคม 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายไชยรัตน์ บุตรเทพ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พลตรีปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.ต.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานกระทรวง อว. และ สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ

          ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศขับเคลื่อนประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่ง สวทช. จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 โดยปีนี้จัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบ ทั้งกิจกรรมสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ กิจกรรมเยี่ยมชม กิจกรรมนำเสนอเชิงธุรกิจ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยตั้งเป้าให้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของบุคลากรวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 การขับเคลื่อน และ 4 การส่งเสริม

         สำหรับ 4 การขับเคลื่อน ประกอบด้วย การพัฒนาตามสาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เกษตรอาหาร 2. สุขภาพการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4.ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า และการเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ ส่วน 4 การส่งเสริม ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.การยกระดับความสามารถของกำลังคน 3.การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ และ 4.การปรับกฎหมาย กฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนา BCG Economy model ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงาน ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน 53 หัวข้อ และการจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ 72 ผลงานใน 6 โซน เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

         จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยและนิทรรศการความก้าวหน้าทางงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 6 โซนได้แก่ 1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ อาทิ โครงการฝึกทักษะถอดความเสียงพูดเพื่อจัดทำคำบรรยายแทนเสียงสำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยินซึ่งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างรายได้และคุณค่าต่อตนเอง และนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้

         นิทรรศการ วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนแบบ Area based ในลักษณะกลุ่มสินค้าของ BCG สาขาเกษตร มีเป้าหมายเพื่อ ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ดำเนินการโดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง อุดรธานี และนครพนม เพื่อผลักดันการใช้ BCG Economy Model ขับเคลื่อนชุมชนให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตข้าวด้วยเกษตรสมัยใหม่ ควบคู่กับการผลิตพืชหลังนาที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่

         สำหรับงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 จัดระหว่างวันที่ 28 – 31 มีนาคม 2566 นี้ จัดออนไซต์เต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาและกิจกรรมเยาวชน 53 หัวข้อ นิทรรศการผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักวิจัย สวทช. และพันธมิตรกว่า 72 ผลงาน กิจกรรม Open house เยี่ยมชม 27 ห้องปฏิบัติการวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมกับเวที R&D Pitching 16 ผลงาน และ NAC Market 2023 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชนในราคาพิเศษจากเครือข่าย สวทช. 

ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nstda.or.th/nac และร่วมกิจกรรมภายในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามโทร. 02564 8000

Print Friendly, PDF & Email