ENTEC สวทช. จัดสัมมนาขยายผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ณ งานประชุมวิชาการ สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC 2022)

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. จัดสัมมนาขยายผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ โดยจัดเป็นงานประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม WebEx ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC 2022)

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล  ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวเปิดงานสัมมนา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในสาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า GDP รวมกันถึง 1.1 แสนล้านบาท และมีศักยภาพในการเติบโตสูง และงานสัมมนาในวันนี้ได้หยิบยกงานวิจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่สำคัญที่จะตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ

ในงานสัมมนาซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 200 ท่าน มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และแนะนำโครงการวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายของศูนย์ฯ เริ่มต้นจากโครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 ที่รองรับการประกาศใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก EURO5 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน และโครงการพัฒนาโอลิโอเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงจากน้ำมันปาล์มสำหรับการใช้งานทางด้านการหล่อลื่น ซึ่งสอดคล้องกับ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 มิถุนายน 2564 ที่กำหนดให้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ควรส่งเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศ

การสัมมนาครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่สะอาดและผ่านมาตรฐานมลพิษยานยนต์ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีการขนส่งจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถปรับตัวในห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มกว่า 3 แสนครัวเรือน และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ปาล์มน้ำมัน นอกเหนือจากการนำไปใช้ในรูปเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ
นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ
ดร. พีรวัฒน์ สายสิริรัตน์
นักวิจัยทีมวิจัยพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพพลังงาน
นำเสนอโครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5
ดร. บุญญาวัณย์ อยู่สุข
หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง
นำเสนอโครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก
จากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ
เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
ดร. พรประภา พิทักษ์จักรพิภพ
นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง
นำเสนอโครงการพัฒนาโอลิโอเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงจากน้ำมันปาล์ม
สำหรับการใช้งานทางด้านการหล่อลื่น

สามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/entecnstda/videos/512529840525254

Print Friendly, PDF & Email