วันที่ 30 เมษายน 2568 ณ โรงแรม เดอะ ควอเตอร์ อารีย์ บายยูเอชจี กรุงเทพ ฯ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโครงการศึกษาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดฝุ่นจากไอเสียรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย (รถกระบะและรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล) ภายใต้ทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม P24 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และ ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวรายงานถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดผลผลิตของโครงการ ได้แก่ ระบบตรวจวัดปริมาณควันทึบแสงจากยานยนต์ด้วยวิธี Computer vision และแพลตฟอร์มระบบประมวลผล แสดงผล และบริหารจัดการข้อมูลเพื่อคัดกรองและติดตามรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยีเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยควันดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อการจราจร และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษในภาคขนส่ง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวนมาก รวมถึงยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และวิทยากรเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมกันหาแนวทางในการนำผลผลิตของโครงการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นความท้าทายของภาครัฐในการออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไข ป้องกัน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพประชาชน วช. สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ภายใต้แผนงาน P24 การแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ แบ่งการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีความบูรณาการและมุ่งเป้าตามแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่เป้าหมายที่แตกต่างกัน ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคป่าไม้ ภาคคมนาคม ฝุ่นละอองข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างระบบข้อมูลแบบบูรณาการ ซึ่งในส่วนของภาคคมนาคม มีพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนเป็นเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการจราจรคับคั่ง อาศัยแนวทางสำคัญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดปริมาณการปล่อยฝุ่นละอองจากการคมนาคมทางถนน ผ่านการพัฒนาระบบคัดกรองการตรวจสอบปริมาณไอเสียรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนารูปแบบโมเดลการจัดการเพื่อจำกัดและควบคุมรถยนต์กลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับระดับปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลผลิตจากโครงการนี้จะถูกนำไปใช้และผลักดันให้เกิดประโยชน์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะนำไปสู่การพัฒนาข้อกฎหมายและแนวทางการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนำมาสู่ปัญหาปริมาณมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศมีปริมาณเกินขีดจำกัดมาตรฐาน เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีการจราจรคับคั่ง กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นสาเหตุหลักที่มีการปล่อยควันดำในไอเสียที่สัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และยังประกอบด้วยสารก่อมะเร็งมากกว่าแหล่งกำเนิดอื่น ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) และการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer vision) บนความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานกล้อง CCTV ในระบบควบคุมการจราจร สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของโครงการพัฒนาเป็นผลผลิต ได้แก่ ระบบตรวจวัดปริมาณควันทึบแสงจากยานยนต์ด้วยวิธี Computer vision, แพลตฟอร์มระบบประมวลผล แสดงผล และบริหารจัดการข้อมูลเพื่อคัดกรองและติดตามรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย และการแสดงผลสถานการณ์การปล่อยฝุ่นละอองจากภาคคมนาคม ซึ่งผลผลิตที่ได้พัฒนาขึ้นจะเป็นเครื่องมือช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมรถยนต์กลุ่มเป้าหมายได้ผลมากขึ้นและช่วยลดผลกระทบต่อการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดฝุ่น PM2.5 จากไอเสียรถยนต์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ในการพัฒนาเครื่องมือทันสมัยที่ใช้เทคโนโลยี AI และ Computer vision เพื่อตรวจจับและติดตามรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ ลดผลกระทบต่อการจราจร และนำไปสู่การพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน



