เหตุการณ์สำคัญในรอบปี

เหตุการณ์สำคัญในรอบปี

ตลอดปีงบประมาณ 2565 ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ และผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อรองรับอนาคต ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การดำเนินการดังกล่าวใช้กลไกการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมที่มาจากความต้องการการใช้งานของภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งช่วยให้เกิดโจทย์วิจัย และบูรณาการด้านนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ไตรมาส 1 (Q1/65: ต.ค.-ธ.ค. 64)

• ENTEC ได้ส่งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENERclean” ซึ่งเป็นผลผลิตจากเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENcase” จำนวน 100 ชุดให้แก่โครงการ “อว. พารอด” เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นผู้รับมอบ “ENcase” และ “ENERclean” เป็นผลงานของ ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และคณะ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับพัฒนานวัตกรรมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

• ENTEC และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้เยี่ยมชมและหารือความร่วมมืองานวิจัยเกี่ยวกับดาวเทียมและอวกาศกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานและระบบบริหารจัดการสำหรับดาวเทียม การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่สนับสนุนแคมเปญ “Dark Sky in Thailand” หรือใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” เพื่อลดมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาดาราศาสตร์ และให้พื้นที่หรือชุมชนสามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ/ถ่ายภาพในเวลากลางคืนได้ การพัฒนาโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับใช้งานในดาวเทียม และการพัฒนาโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในอวกาศ การหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตดาวเทียม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต

• ENTEC ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร1 ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บันทึกข้อตกลงนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 1 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด, บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กริชวิช (ประเทศไทย) จำกัด

ไตรมาส 2 (Q2/65: ม.ค.-มี.ค. 65)

 

• ตัวแทนจากสมาคม IEEE–PES2 NIO TESTA3และ ENTEC จำนวน 23 ท่านเยี่ยมชมโครงการ Smart Micro Grid ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2565 ณ บ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาการใช้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในการสนับสนุนการมีไฟฟ้าใช้ในโครงการหลวงอินทนนท์ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 การเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว ได้รับความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ENTEC โดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน และหัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน และคณะ4 ต้อนรับคณะนักวิจัยและวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ในโอกาสเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการระบบกักเก็บพลังงาน ณ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ทีมวิจัย ENTEC และ กฟผ. ได้ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการจัดการซากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้แล้ว เพื่อรองรับซากแบตเตอรี่ที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงแนวทางความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ กฟผ.
2สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE Power & Energy Society–Thailand: IEEE-PES Thailand-Chapter New Initiatives and Outreach, IEEE PES Thailand–NIO)
3สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association, TESTA)
4 ดร.ณัฐนัย คุณานุสนธิ์, ดร.ธัญญา แพรวพิพัฒน์, ดร.มานพ มาสมทบ และ ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ

• ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล  ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมแถลงข่าวส่งมอบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี หรือ “ENcase” ให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่งใน 4 จังหวัด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ “ENERclean” สำหรับใช้ฆ่าเชื้อโรคในขั้นตอนการบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในโรงพยาบาลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

• ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน และหัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ต้อนรับหน่วยงาน Korea SMEs and Startups Agency (KOSME) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในโอกาสเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการระบบกักเก็บพลังงาน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สร้างโอกาสและขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเเข่งขันและการทำธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สตาร์ทอัพระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ KOSME เป็นหน่วยงานที่ลงนามบันทึกข้อตกลงกับสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กรอบความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพระหว่างประเทศ เพื่อเน้นย้ำความตั้งใจของรัฐบาลในการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ

• ENTEC ร่วมกับพันธมิตร จัดประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น “การวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ข้อมูลที่ได้จะเป็นแนวทางในการออกแบบแพ็กแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับการผู้ผลิตและการใช้งานในประเทศ ตลอดจนศึกษาข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนามาตรฐานของแพ็กแบตเตอรี่ในประเทศต่อไป 

• ENTEC จัดสัมมนาออนไลน์ขยายผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC 2022) งานสัมมนาจะเป็นการบรรยายโครงการวิจัยของ ENTEC ที่สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และสอดรับกับนโยบายประเทศ โดยมีโครงการดังนี้
1. โครงการศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กมาตรฐานไอเสีย EURO5 ที่รองรับการประกาศใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก EURO5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
2. โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
3. โครงการพัฒนาโอลิโอเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงจากน้ำมันปาล์มสำหรับการใช้งานทางด้านการหล่อลื่น ซึ่งสอดคล้องกับ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่กำหนดให้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ควรส่งเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศ

 

ไตรมาส 3 (Q3/65: เม.ย.-มิ.ย. 65)

• สวทช. โดย ENTEC จัดงานแถลงข่าวและลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ และการเริ่มโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัย เพื่อขยายความร่วมมือเดินหน้าเฟส 2 นำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 50 คัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารวิจัยโยธี ถนนพระรามที่ 6 งานแถลงข่าวนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ, คุณ สุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), คุณอารีรัตน์ ศรีประทาย กรรมการผู้จัดการบริษัท The Stallions และ Mr. Li Yao ประธานบริษัท Dongguan Tailing Electric Vehicle Co., Ltd. (TAILG) ร่วมลงนาม โดยมี Dr. Mushtaq Memon, Regional Coordinator for Chemicals and Pollution Action และ Mr. Bert Fabian จาก United Nations Environment Programme (UNEP) ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับโครงการเฟส 2 นี้ จะคัดเลือกวินมอเตอร์ไซด์ เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน ให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประกอบอาชีพประจำวัน และจะมีการติดตามเก็บข้อมูลด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลา 1 ปี ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการขับขี่ การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การใช้พลังงาน ปริมาณมลพิษที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงจะถูกวิเคราะห์ เพื่อสร้างโมเดลที่เหมาะสมในการขยายผลวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งเพื่อนำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามจุดประสงค์ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)

• ENTEC จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์เรื่อง “The 3 rd Workshop on Enhancing Climate Adaptation Capacity of ASEAN Energy Systems through the Concept of Energy Resilience” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสมาชิกเอเปค เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนความยืดหยุ่นทางพลังงานที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 11 ประเทศสมาชิกอาเซียนและสมาชิกเอเปค ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สิงคโปร์ และไทย

• สวทช. โดย ENTEC จัดพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ บริษัท ที.เอ.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมพาบริษัทฯ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมี ดร.อมรรัตน์ ลิ้มมณี หัวหน้าทีมวิจัยและคณะ ให้การต้อนรับและบรรยายข้อมูล

• ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน พร้อมด้วยทีมวิจัย ต้อนรับคณะจาก บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โอกาสนี้ได้ประชุมหารือความร่วมมือเทคโนโลยีพัฒนาด้านยานยนต์ พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านพลังงานต่างๆ ของศูนย์ฯ โดยบริษัทฯ สนใจการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ธุรกิจ เช่น แบตเตอรี่ เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง วัสดุน้ำหนักเบา ในชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึงงานวิจัยและพัฒนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการการผลิต และนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

• ENTEC ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนประเทศไทยให้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ 2nd ASEAN Foresight Research Cohort (AFRC) Workshop เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ งานประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน 3rd ASEAN Innovation Roadmap (AIR) ซึ่งจัดขึ้นผ่านความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI), Academy of Sciences Malaysia (ASM) และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) การประชุมปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการร่วมประชุมกับตัวแทนประเทศสมาชิกจากภูมิภาคอาเซียนจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย มาร่วมระดมสมองเพื่อจัดทำร่างรายงาน ASEAN Foresight 2035

ไตรมาส 4 (Q4/65: ก.ค.-ก.ย. 65)

• ENTEC ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ฯ ในงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคม (Tech innovation for sustainable future) เมื่อวันที่ 5-7 สิงหาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการดังกล่าว

ผลงาน “แผงเซลล์แสงอาทิตย์นํ้าหนักเบากึ่งส่องผ่านแสง” เป็นผลงานวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ มีจุดเด่นที่แผงเซลล์มีลักษณะกึ่งส่องผ่านแสง มีนํ้าหนักเบากว่าแผงเซลล์มาตรฐานทั่วไปประมาณ 25% สามารถเคลื่อนย้ายและติดตั้งง่าย มีความแข็งแรง และเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถใช้ทำหลังคาโรงเรือนการเกษตร ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 30 วัตต์ และแสงส่องผ่านได้ 35% สามารถติดตั้งบนหลังคาเมทัลชีทโดยไม่ใช้ชุดรางรองรับแผงเซลล์ฯ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโครงสร้างและเพิ่มความสะดวกสบายในการติดตั้ง ทั้งนี้ผลงานดังกล่าว ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการและได้มีการนำไปใช้งานเป็นหลังคาโรงเรือนการเกษตรเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนอกจากจะช่วยพรางแสงให้พืชแล้ว ยังสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่เพาะปลูกได้

• ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อํานวยการ และคณะผู้บริหาร สวทช. ร่วมให้การต้อนรับรองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ในโอกาสเยี่ยมชมผลงานวิจัย สวทช. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้อำนวยการ สวทช. ได้บรรยายสรุปแนะนําแนวทางและผลการดําเนินงาน 3 เรื่องหลักคือ BCG Economy Model, Artificial Intelligent (AI) และ EECi ซึ่งผ่านมติ ครม. และอยู่ในแผนของสภาพัฒน์ฯ พร้อมกันนี้ ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อํานวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ได้ร่วมบรรยายสรุปเรื่อง กลไกการนําผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์

ผลงานของ ENTEC ที่นำมาเสนอมีดังนี้
1) EnPAT (สารหล่อลื่นชีวภาพจากน้ำมันปาล์มไทย)
2) น้ำมันผสมยางล้อชีวภาพ (Bio rubber process oil)
3) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก
4) Hardware-in-the-loop for testing Battery Management System
5) ต้นแบบชุดแบตเตอรี่อรี่สำหรับการใช้งานด้านยุทโธปกรณ์
6) Acetylene black “Pim-L” (Commercial Materials in Li-ion Batteries)
7) Materials in Li-ion Batteries

ㆍENTEC และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานการตรวจสอบความพร้อมใช้ของแผงเชลล์แสงอาทิตย์ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว” เมื่อวันที่ กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ และผ่านระบบการสัมมนาออนไลน์ (Webex) การดำเนินการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานฯ นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานตรวจสอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านการใช้งานแล้วของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถใช้อ้างอิงการทดสอบและประเมินคุณภาพของแผงเชลล์แสงอาทิตย์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยผลการจัดงานนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่การปรับปรุงและพัฒนาร่างมาตรฐานให้สมบูรณ์มากขึ้น เหมาะแก่การใช้งานในประเทศต่อไป

กิจกรรมเพื่อสังคม

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชลล์แสงอาทิตย์จัดฝึกอบรมการประดิษฐ์ชุดไฟฟ้าส่องสว่างด้วย LED แบบพึ่งพาตนเองให้กับชาวบ้านใน 2 ชุมชน จำนวน 120 ครัวเรือน เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนให้มีทักษะการประดิษฐ์และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างใช้ในกิจกรรมครัวเรือนด้วยตนเองอย่างถูกต้องและปลอดภัย และอบรมทบทวนการบำรุงดูแลรักษาระบบโซลาร์เซลล์ให้กับครูเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียน ขนมและของใช้จำเป็นให้แก่นักเรียนโรงเรียน ตชด.บ้านแม่จันทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก และศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านวะกะเลโค๊ะ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ในระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2565 โดยทั้ง 2 โรงเรียนตั้งอยู่บริเวณชายขอบของประเทศที่เป็นพื้นที่ทรงงานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเป็นโรงเรียนที่อยู่ระหว่างขยายผลการดำเนินโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ โดย มี ดร.อัศวิน หงษ์สิงห์ทองเป็นหัวหน้าโครงการ

โครงการดังกล่าวฯ เป็นโครงการดำเนินงานร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริๆ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อวัตถุประสงค์ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโน่โลยีของเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และสนองนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email