สารจากผู้อำนวยการ

ปี พ.ศ. 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง แต่โลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติด้านพลังงานอันเป็นผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นเนื่องจากต้นทุนของก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หน่วยงานหลายภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการเตรียมตัวและเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม มองหาธุรกิจใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีพลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในช่วงปี พ.ศ. 2608-2613 (ค.ศ. 2065-2070) นอกจากนี้ในระดับครัวเรือนก็เริ่มมีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง และเริ่มหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นแทนการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน

การวิจัยและพัฒนาถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม ENTEC ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานได้คิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ผ่านกรอบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ในการดำเนินงานทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1) พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) 2) ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) 3) พลังงานสิ้นเปลือง (conventional energy) 4) การบริหารจัดการพลังงาน (system integration and energy management) และ 5) ประสิทธิภาพพลังงาน (energy efficiency) รวมถึงการศึกษาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (energy policy/resilience)

ในปี พ.ศ. 2565 ENTEC ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนไปใช้ในเชิงพาณิชย์จำนวน 3 ผลงาน โดยเป็นผลงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ENTEC ยังสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมวิจัยและสร้างนวัตกรรมพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา การผลิตและการติดตั้งอุปกรณ์ที่มีหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green-Economy) ผ่านกิจกรรมการลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการในโครงการนำร่องสาธิตการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ปลดระวางจากโซลาร์ฟาร์มเพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน โดยมีการนำแผงโซลาร์เซลล์ปลดระวางที่สมรรถนะยังดีไปใช้ซ้ำในรูปแบบ ระบบ off-grid ขนาดเล็ก เช่น ปั๊มน้ำโซลาร์เพื่อการเกษตร เป็นต้น ส่วนแผงที่ตรวจพบว่าสมรรถนะต่ำ ได้มีการนำแผงไปทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมการประจุไฟฟ้าได้

ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนสาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ ENTEC ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมาตรการเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มดิบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพแบบติดไฟยาก น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ENTEC ยังได้ส่งมอบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมีให้แก่สถานพยาบาล 10 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแม้ในช่วงที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ตัวเครื่องก็ยังสามารถผลิตน้ำยาเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในสถานพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง
ENTEC ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานเพื่อมอบโอกาสในการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่ชุมชนชายขอบ ผ่านโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ENTEC ได้ออกแบบและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทนทานและต้องการการบำรุงรักษาต่ำ ซึ่งมีความเหมาะสมในการติดตั้งใช้งานในโรงเรียนตามถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้โรงเรียนมีกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับการเรียนการสอน อีกทั้งเด็กๆ สามารถนำไฟฟ้ากลับไปใช้ที่บ้านด้วยการนำแบตเตอรี่มาประจุไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้ติดตั้งไว้ที่โรงเรียน นอกจากนี้ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านในชุมชนด้วยกิจกรรมการประดิษฐ์ชุดไฟฟ้าส่องสว่างด้วย LED แบบพึ่งพาตนเอง และในปีต่อไป ENTEC ก็ยังคงมุ่งมั่นกับการสร้างโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนชายขอบตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ปี พ.ศ. 2566 ENTEC ยังคงมุ่งมั่นวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้มสถานการณ์พลังงานปัจจุบันและอนาคต พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ เช่น สมาคมระบบกักเก็บพลังงานแห่งประเทศไทย (TESTA), Hydrogen Thailand และ ASEAN Center for Energy (ACE) เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ประเทศ ไปจนถึงนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละแขนงต่อยอดพลังงานสร้างผลกระทบเชิงบวก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email